มาดูวิธีบำรุงและป้องกันสายตาโดยไม่จำเป็นต้องใส่แว่นมีอะไรบ้าง?
สวัสดีครับ การที่เรามีอายุมากขึ้นนั้นสายตาของเราอาจจะค่อย ๆ เสื่อมลงได้ ถึงแม้จะเป็นแบบนั้นก็มีหลาย ๆ วิธีที่เราสามารถปกป้องและบำรุงการมองเห็นโดยไม่ใส่แว่นตาด้วยวิธีทางธรรมชาติได้
Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ได้ประมาณการว่าในสหรัฐอเมริกาผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปกว่า 12 ล้านคนนั้นมีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับการมองเห็น
- มีผู้คนกว่า 3 ล้านคนที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็นหลังจากการรักษา
- มีผู้คนกว่า 8 ล้านคนที่มีปัญหาทางสายตาจากสายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข
- มีผู้คนกว่า 1 ล้านคนที่มีอาการตาบอด
อย่างไรก็ตาม การมีสายตาที่แย่เราไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุมาจากการที่เรามีอายุมากขึ้น ซึ่งวิธีที่ทางธรรมชาติและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันสามารถช่วยให้เราบำรุงดูแลสุขภาพของตาได้โดยที่ไม่ต้องใส่แว่น ซึ่งในบทความนี้เราจะมาดูกันครับ
แว่นตาป้องกัน
อาการบาดเจ็บตาอาจจะเกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราได้ เช่น งานบ้าน เล่นกีฬา การทำงานที่ต้องใช้อุปกรณ์บางอย่างหรือการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย
แว่นตาป้องกันสามารถป้องกันการเกิดการบาดเจ็บ ความเสียหาย และความระคายเคืองตาดวงตาจากการกระแทก เศษผง และสารเคมีได้ รวมไปถึง
- แว่นตานิรภัย
- แว่นตากันลม
- หน้ากากอนามัย
- กระบังหน้า
- หมวกกันน็อค
โดยปกติแล้วแว่นตาธรรมดาทั่ว ๆ ไปไม่สามารถป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตาของเราได้อย่างเพียงพอและแว่นอาจจะแตกได้หากเกิดการกระทบมากเกินไปซึ่งยิ่งเป็นอันตรายต่อตาของเรามากขึ้น
แว่นกันแดด
แว่นกันแดดไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องประดับเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันดวงตาของเราจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV)
การได้รับรังสี UV มากเกินไปอาจจะทำให้ดวงตาเกิดความเสียหายได้ รังสี UV ยังเป็นการเร่งปฏิกิริยาในการเกิดโรคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้อีกด้วย
- ต้อกระจก
- มะเร็งตา
- ต้อเนื้อ
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายของดวงตา ได้แก่
- ชาวนา
- ชาวประมง
- นักเล่นกระดานโต้คลื่น
- นักเล่นสกี
- ผู้ที่ใช้เวลาอยู่กลางแจ้งหรือกลางแดดมาก
ในตอนที่เลือกซื้อแว่นกันแดด ควรเลือกแว่นกันแดดที่มีการปกป้องรังสี UV อย่างเพียงพอ และการสวมหมวกปีกกว้างก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการปกป้องดวงตาจากรังสี UV ได้
สิ่งสำคัญที่เราควรรู้ก็คือรังสี UV สามารถทะลุผ่านเมฆได้ ไม่เว้นแม้แต่ฤดูหนาวที่มองไม่เห็นดวงอาทิตย์
การตรวจตาเป็นประจำ
ตามที่ National Eye Institute ได้แนะนำวิธีเดียวที่เราจะมั่นใจได้ว่าดวงตาของเรานั้นมีสุขภาพที่สมบูรณ์คือการตรวจโดยขยายม่านตาแบบครอบคลุม
หมอตาจะหยอดยาหยอดตาลงในตาแต่ละครั้งเพื่อขยายม่านตาในระหว่างการตรวจ เมื่อม่านตาขยายออกทำให้แสงจะเข้าสู่ดวงตามากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้หมอมองเห็นจุดภาพชัด จอประสาทตา และเส้นประสาทตา และระบุโรคในดวงตาได้
การตรวจแบบนี้สามารถช่วยหาโรคของตาที่เกิดขึ้นในระยะแรกได้ เช่น ต้อหินและจอประสาทตาเสื่อม
พักสายตาจากหน้าจอ
การทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานอาจจะทำให้ตาล้าได้
คนที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นาน ๆ อาจจะลองใช้กฎ 20-20-20 คือ ทุก ๆ 20 นาทีที่เราจ้องหน้าจอ ให้มองอย่างอื่นที่อยู่ข้างหน้าเราประมาณ 20 ฟุตเป็นระยะเวลา 20 วินาทีซึ่งช่วยลดอาการปวดตาได้
ควบคุมเบาหวาน
คนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับตาก็คือภาวะเบาหวานขึ้นตาได้
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะค่อย ๆ ทำลายหลอดเลือดในจอประสาทตา โดยหลอดเลือดจะบวม หรืออุดตัน
หากไม่ได้รับการรักษา เบาหวานขึ้นตาอาจจะนำไปสู่การมองไม่ค่อยเห็นและตาบอดในท้ายที่สุดได้ คนที่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแย่อาจจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ได้
การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของน้ำตาลในกระแสเลือดอาจจะทำให้การมองเห็นของเราพร่ามัวได้ และเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดคงที่การมองเห็นก็จะกลับมาชัดเหมือนเดิม การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีและการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุก ๆ ปี สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาได้
จัดการโรคเรื้อรัง
นอกจากโรคเบาหวานการมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ก็สามารถนำไปสู่ปัญหาของการมองเห็นได้
CDC ได้รายงานว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีความบกพร่องทางสายตามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเรื้อรัง รวมไปถึง
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจ
- ไขมันในเลือดสูง
- โรคมะเร็ง
- โรคไตโรคหลอดเลือดสมอง
- โรคข้ออักเสบ
- โรคตับอักเสบ
- โรคหอบหืด
- ภาวะซึมเศร้า
- โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
- ผู้มีปัญหาทางการได้ยิน
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS) ยังสามารถทำให้เกิดความบกพร่องทางสายตาและสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจอประสาทตาได้
การเข้ารับการรักษาโรคเรื้อรังอย่างเหมาะจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับตา
วิตามิน
จากการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอีนั้นดีต่อสุขภาพตา
วิตามินเหล่านี้มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระและต่อต้านการอักเสบที่อาจจะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมได้
การรับประทานอาหารที่มีความสมดุลและมีความหลากหลายที่ประกอบไปด้วยผักและผลไม้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรับวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอีได้ โดยแหล่งของวิตามินเหล่านี้ได้แก่
- บร็อคโคลี
- ส้ม
- มะละกอ
- มันฝรั่งหวาน
- ผักโขม
- แครอท
- พริกแดง
- ฟักทอง
- อัลมอนด์
- เนยถั่ว
- เมล็ดทานตะวัน
จากการศึกษาได้แนะนำกรดไขมันโอเมกา 3 เช่น กรด Docosahexaenoic (DHA) กรด Eicosapentaenoic (EPA) ที่มีบทบาทต่อสุขภาพตาและลดความเสี่ยงของโรคตาที่เกี่ยวข้องกับอายุได้
อาหารที่อุดมไปด้วยโอเมกา 3 ได้แก่ ปลา ถั่ว และเมล็ดพืช เรายังสามารถซื้ออาหารเสริมโอเมกา 3 ผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย
แคโรทีนอยด์
แคโรทีนอยด์นั้นมีอยู่ในจอประสาทตาและยังเป็นตัวช่วยให้การจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดวงตาจากปฏิกิริยาออกซิเดชันได้
จากวารสารที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2013 ได้ระบุว่า แคโรทีนอยด์ ลูทิน และซีแซนทิน มีความสำคัญต่อสุขภาพของดวงตา
โดยลูทินและซีแซนทินนั้นมีอยู่มากในผักใบสีเขียว แต่เรายังสามารถรับประทานได้ในรูปแบบของอาหารเสริมซึ่งสามารถหาซื้อได้ทางร้านค้าออนไลน์
เลิกสูบบุหรี่
ในทางวิทยาศาสตร์ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าการสูบบุหรี่นั้นไม่ดีต่อสุขภาพและอาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบว่าการสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุในการเกิดโรคตาอีกหลายชนิด
การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ต้อกระจก และม่านตาอักเสบ รวมไปถึงยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาอีกด้วย ควันบุหรี่ยังทำให้ตาเกิดการระคายเคือง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการตาแห้ง การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงที่เกิดโรคตาเหล่านี้ได้
การมีสุขอนามัยที่ดี
การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อที่ตาได้
การล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสตาหรือสัมผัสคอนแทกต์เลนส์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติตาม การปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตคอนแทกต์เลนส์หรือแพทย์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน
การแต่งตาแบบเก่ายังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ตาได้ หากเกิดการติดเชื้อเราอาจจะต้องงดการแต่งตาถึง 3 เดือน และหากเกิดการติดเชื้อที่ตาก็ควรที่จะทิ้งและเปลี่ยนผลิตภัณฑ์แต่งตาทั้งหมด
รู้ประวัติครอบครัว
โรคตาบางชนิดสามารถเกิดขึ้นผ่านทางพันธุกรรมในครอบครัวได้ เราอาจจะต้องคุยกับญาติเรื่องประวัติสุขภาพตาของพวกเขา เพื่อที่จะได้รู้และเตรียมพร้อมได้
การรู้ประวัติสุขภาพตาของคนในครอบครัวสามารถช่วยให้เราเกิดความระมัดระวังได้ นอกจากนี้หากคนในครอบครัวมีประวัติในการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับตา เราต้องแจ้งจักษุแพทย์เรื่องประวัติของครอบครัวด้วย โดยโรคตาที่สามารถติดต่อผ่านทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ต้อกระจก ต้อหิน โรคเส้นประสาทตาอักเสบ สายตาสั้น
เขียนโดย Akiraz
อ้างอิงจาก Shannon Johnson (2019) How to improve and protect eyesight without glasses, Available at: https://www.medicalnewstoday.com/articles/324635 (Accessed: 15th October 2021).