นอนกรน หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ในปัจจุบันโรคนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ กำลังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนนั้นกำลังประสบ และจากการศึกษาในต่างประเทศยังพบว่า ผู้ชายนอนกรนมากกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายที่นอนกรนมีประมาณร้อยละ 20-50 และปัญหาหยุดหายใจจากทางเดินหายใจอุดตันขณะนอนหลับร้อยละ 25 ส่วนผู้หญิงที่นอนกรนมีประมาณร้อยละ 10-20 และปัญหาหยุดหายใจร้อยละ 10
โรคนอนกรน คือ???
ตามข้อมูลวิทยาลัยอายุรศาสตร์การนอนหลับอเมริกา (The American Academy of Sleep Medicine-AASM) อธิบายถึงโรคนอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ ว่าคือ ภาวะที่ทางเดินลมหายใจส่วนบนยุบตัวลงระหว่างนอนหลับ ทำให้หยุดหายใจ นานครั้งละ 10 วินาทีขึ้นไป แล้วสะดุ้งตื่น ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 5 ครั้ง
สาเหตุของการนอนกรน
การนอนกรน ส่วนใหญ่พบได้เมื่อเรานั้นนอนหงายและหลับลึก โดยเนื้อเยื่อในช่องคอ เช่น เพดานอ่อน ลิ้น จะหย่อนไปทางด้านข้างหลัง ทำให้คอแคบลง และเกิดการสั้นสะเทือนมากขึ้น จนเกิดเสียงกรนเสียงดัง ซึ่งแน่นอนมันทำให้คนรอบข้าง หรือคู่นอนของเรานั้นรู้สึกรำคาญ แต่ไม่เพียงแค่นั้น จริงๆแล้วก็เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพเราด้วย เพราะอาจจะทำให้ขาดอากาศหายใจขณะหลับเป็นเวลานานหลายวินาทีซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากหยุดหายใจไปนานเกินไป โดยจะทำให้ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
สาเหตุของการนอนกรน หรือหยุดหายใจในขณะนอนหลับ มีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นก็คือ ความอ้วน เนื่องจากคนที่มีน้ำหนักมากจะมีไขมันสะสมอยู่ที่เนื่อเยื่อรอบช่องคอ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง แต่นอกจากคนที่อ้วนแล้ว คนที่ผอมบางก็สามารถเป็นได้เช่นกัน หากมีลักษณะโครงสร้างกระดูกใบหน้าที่ผิดปกติ อย่างเช่นคางสั้น ก็สามารถทำให้เกิดเสียงกรนได้เมื่อหายใจขณะนอนหลับ นอกจากนี้ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นหวัดเรื้อรังก็จะเป็นสาเหตุทำให้นอนกรนได้เช่นกัน
วิธีเลี่ยงการนอนกรน
ควบคุมน้ำหนัก ความอ้วนเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของอาการนอนกรน เพราะไขมันที่สะสมบริเวณช่อทางเดินหายใจแถวๆคอ ถูกเบียดให้เล็กลง รวมทั้งไขมันที่หน้าอกและท้องก็ยังเป็นภาระให้ร่างกายต้องหายใจหนักขึ้นและใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น
ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ดึงรั้งช่องทางเดินหายใจมีความแข็งแรงขึ้น ขณะที่นอนหลับเนื้อเยื่อภายในปากจะได้ไม่หย่อนลงมาจนขัดขวางช่องทางเดินหายใจ
จัดท่านอน พยายามจัดท่านอน เพื่อป้องกันการหายใจทางปาก โดยการนอนตะแคงงอข้อศอก เพื่อให้มือข้างหนึ่งยันคางไว้เป็นการปิดปาก หรืออาจใช้หมอนหนุนหลังเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พลิกมานอนหงาย อาจฝึกด้วยการนอนในที่แคบๆจนเคยชินก็ได้ หรือจะลองใช้ลูกเทนนิสสอดไว้ในเสื้อนอนด้านหลัง ความไม่สบายนี้จะช่วยเตือนให้คุณหลับในท่าตะแคงได้โดยตลอด
ยกศีรษะให้สูงขึ้น ถ้านอนตะแคงไม่ได้จริงๆ ให้นอนหงายแล้วใช้หมอนเล็กๆ หนุนที่บริเวณหลังคอด้านบน ยกศีรษะให้สูงจากเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหย่อนลงไปในลำคอจนเกิดเสียงกรนได้
รักษาที่นอนให้สะอาด พยายามกำจัดปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดหอบหืด ภูมิแพ้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการกรน เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์
พยายามอย่าให้มีขี้มูกก่อนนอน จะช่วยให้ช่องจมูกเปิดโล่ง ลมเข้าออกได้อย่างสะดวก
เพิ่มระดับความชื้นในห้องนอน เพราะการนอนในห้องที่มีความชื้นต่ำมาก อากาศภายในห้องจะแห้ง ทำให้เยื่อบุต่างๆในระบบทางเดินหายใจพลอยแห้งตามไปด้วย บางรายอาจเกิดอาการบวมและทางเดินหายใจตีบแคบลง จนเกิดอาการนอนกรนในที่สุด
สรุปบทความโดย Amr
cheewajitmedia (2020) นอนกรน หรือ หยุดหายใจขณะนอนหลับ กับการทดสอบ Sleep test โรงพยาบาลไหน ราคาเท่าไหร่?, Available at: https://goodlifeupdate.com/healthy-body/212910.html (Accessed: 17 November 2020).
sirakan (2019) แก้นอนกรน ด้วย 4 สมุนไพร, Available at: https://goodlifeupdate.com/healthy-body/212910.html (Accessed: 29 March 2019).