มาดูกันว่าคนที่มีภาวะซึมเศร้ารู้สึกอย่างไรบ้าง

          สวัสดีครับ ภาวะซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่งที่มีความรุนแรงสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราได้ ซึ่งอาจจะทำให้รู้เศร้าและสิ้นหวัง หมดความสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างยาวนาน

          นอกจากนี้อาจจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางร่างกาย และความอยากอาหารที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงปัญหาด้านการนอนหลับ

          Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ในปี ค.ศ. 2009-2012 ได้พบว่าผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40-59 ปีกว่า 10% นั้นมีภาะวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม จากจำนวนของผู้ป่วยนั้นก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าภาวะซึมเศร้านั้นเป็นอย่างไรบ้าง

          อาการและสาเหตุของภาวะซึมเศร้านั้นอาจจะแตกต่างไปตามแต่ละบุคคล โดยสาเหตุสำคัญที่ผู้คนได้รับผลกระทบจากภาวะซึมเศร้าและความรู้สึกของตัวเองนั้นอาจจะมาจากเพศด้วยเช่น

ภาวะซึมเศร้ารู้สึกอย่างไร

          มีความเข้าใจผิด ๆ ที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าก็คือ รู้สึกเศร้าหรือหดหู่

          ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนที่มีภาวะซึมเศร้าจะรู้สึกเศร้าก็ตาม แต่ความรู้สึกนี้นั้นอาจจะรุนแรงกว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปกติ และส่งผลต่อเหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตมาก

          อาการที่เกิดจากภาวะซึมเศร้านั้นอาจจะอยู่นานหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งส่งผลให้การใช้ชีวิตเป็นไปได้ยากหรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้

          ภาวะซึมเศร้าได้ขัดขวางการงาน ความสัมพันธ์ และกิจวัตรประจำวัน เช่น การดูแลตนเองและการทำงานบ้าน

          แพทย์มักจะมองหาอาการที่กินระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า

โดยภาวะซึมเศร้านั้นอาจจะรู้สึกว่า

  • ชีวิตไม่มีความสุข คนที่มีภาวะซึมเศร้าเมื่อใช้เวลาไปกับสิ่งที่เคยรักอาจจะรู้สึกไม่มีความสุขและอาจจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่จะมาทำให้มีความสุขได้
  • มีสมาธิยากขึ้น การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ การอ่านหนังสือ หรือการดูทีวีก็อาจจะทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายได้อันเนื่องมาจากภาวะซึมเศร้า เพราะผู้คนไม่สามารถคิดได้เหมือนเดิมหรือตามสิ่งที่เกิดขึ้นทันได้
  • ทุกอย่างดูสิ้นหวัง และเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้สึกดีขึ้น ภาวะซึมเศร้านั้นอาจจะทำให้คนรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้สึกดีขึ้นได้อีก
  • ความภาคภูมิใจในตนเองมักจะหายไป คนที่มีภาวะซึมเศร้าอาจจะรู้ว่าตัวเองนั้นไร้ค่าและทำอะไรก็ล้มเหลวไปหมด บางครั้งคนที่มีภาวะซึมเศร้าอาจจะจมอยู่ในเหตุการณ์และประสบการณ์ในด้านลบ และไม่สามารถมองเห็นด้านบวกของตนเองได้
  • มีปัญหาในการนอนหลับ สำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้าการนอนหลับในตอนกลางคืนอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ผู้คนอาจจะตื่นตั้งแต่เช้าแต่ไม่สามารถนอนหลับในตอนกลางคืนได้ หรือบางครั้งอาจจะนอนมากเกินไปแต่เมื่อตื่นขึ้นมาก็ยังรู้สึกเพลีย
  • ระดับพลังงานในร่างกายต่ำหรือไม่มี บางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองลุกออกจากเตียงไม่ได้ หรือถึงแม้จะนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก็ยังรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา บางครั้งอาจจะรู้สึกเหนื่อยเกินกว่าจะทำอะไรในแต่ละวัน
  • อาหารดูไม่น่าทาน สำหรับบางคนที่มีภาวะซึมเศร้านั้นอาจจะรู้สึกไม่อยากกินอะไรเลย และต้องบังคับให้ตัวเองกินซึ่งอาจจะส่งผลต่อน้ำหนักของตัวเองได้
  • อาหารอาจใช้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกหรือเครื่องมือในการเผชิญปัญหา ถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าบางคนอาจจะไม่อยากอาหาร แต่สำหรับบางคนแล้วอาจจะกินมากเกินไป ซึ่งบางครั้งอาหารที่บริโภคเหล่านี้ก็มีเป็นที่หาได้ง่ายและไม่ดีต่อสุขภาพซึ่งสามารถนำไปสู่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
  • อาจมีอาการปวดเมื่อย หรือบางคนอาจจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามตัว รวมไปถึงการปวดในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

ภาวะซึมเศร้านั้นเป็นโรคทางจิต โดยผู้ที่เป็นนั้นไม่สามารถตัดสินใจเองว่าจะหยุดความรู้สึกเศร้าได้ง่าย ๆ ซึ่งต่างจากความกังวลปกติตรงที่ภาวะซึมเศร้านั้นจะรู้สึกหมดหวังและสิ้นหวัง

  • สาเหตุโดยทั่วไปและปัจจัยเสี่ยง ภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ถึงแม้ว่าสาเหตุของการเกิดของแต่ละคนนั้นจะไม่เหมือนกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ตระหนักถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ ดังต่อไปนี้
  • พันธุศาสตร์ ภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติทางอารมณ์อื่น ๆ สามารถเกิดขึ้นในครอบครัวได้ ถึงแม้ว่าจะประวัติครอบครัวก็ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นจะต้องมีภาวะซึมเศร้าด้วย
  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ภาวะซึมเศร้าอาจจะมาจากความเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของชีวิตหรือเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้รวมไปถึงการหย่า การตายของคนที่เรารัก การตกงาน หรือปัญหาทางด้านการเงิน
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ภาวะซึมเศร้าและหดหู่นั้นมักเกี่ยวข้องการวัยที่หมดประจำเดือน การตั้งครรภ์ และความผิดปกติก่อนที่จะมีประจำเดือน
  • ป่วยเป็นโรคบางโรค ความวิตกกังวล ความเจ็บป่วยระยะยาว โรคเบาหวาน โรคหัวใจ อาจจะทำให้คนบางคนมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า
  • การใช้ยาและแอลกอฮอล์ในทางที่ผิด ในบางกรณีภาวะซึมเศร้าอาจจะเกิดจากการใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์ ในบางครั้งภาวะซึมเศร้าอาจจะส่งผลให้คนบางคนเริ่มเสพยาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางที่ผิด
  • ยาบางชนิด ภาวะซึมเศร้านั้นอาจจะมาจากยาบางประเภทที่สั่งโดยแพทย์ รวมไปถึงยารักษาความดันโลหิตสูง สเตียรอยด์ และยารักษามะเร็งบางชนิด

Designed by Freepik

ภาวะซึมเศร้าในผู้หญิง

ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์นั้นเป็นสาเหตุปกติในการเกิดภาวะซึมเศร้าของผู้หญิง

จากการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้านั้นในผู้หญิงและผู้ชายนั้นมีความแตกต่างกัน

โดยนักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เกิดมาจาก

  • ปัจจัยทางชีวภาพ
  • ความคาดหวังทางวัฒนธรรม
  • ความแตกต่างของประสบการณ์

จากการศึกษาในพี่น้องฝากแฝดในวารสารที่ตีพิมพ์ใน The American Journal of Psychiatry พบว่าบุคลิกและความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้นมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำหรับการเกิดภาวะซึมเศร้าในตอนต้น

โดยเฉพาะจากการศึกษาได้ระบุว่าคนที่มีปัญหาชีวิตสมรส ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมนั้นในผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย

สาเหตุหลักของภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงนั้นก็อาจจะมาจากโรคประสาทหรืออยู่ในสภาวะอารมณ์เชิงลบได้เช่นกัน

จากการศึกษาในวารสาร Journal of Affective Disorders ยังพบว่าภาวะซึมเศร้าของผู้หญิงนั้นมีความแตกต่างกัน โดยผู้หญิงที่ได้รับการศึกษานั้นจะมีแนวโน้มที่จะมีอาการตื่นตระหนกและวิตกกังวลเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากภาวะซึมเศร้า

จากการศึกษาอื่น ๆ ได้ระบุว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่มและมีอาการง่วงนอนมากกว่าผู้ชาย

โดยจากการวิจัยเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของฮอร์โมนได้พบว่า

  • เด็กผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวมีภาวะซึมเศร้าอาจจะมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าในช่วงวัยรุ่นมากกว่าปกติ
  • ผู้หญิงที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนของรอบเดือน ถึงแม้ว่าจะใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้าอยู่แล้วก็ตาม
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นหลังคลอดบุตรและส่งผลกระทบต่อผู้หญิง 1 ใน 7 คน
  • ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นในช่วงการหมดระดู
  • ในช่วงการหมดระดูนี้ผู้หญิงมีโอกาสที่จะมีภาวะซึมเศร้าได้สองถึงสามครั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่เคยเป็นภาวะซึมเศร้ามาก่อนก็ตาม

Designed by Freepik

ภาวะซึมเศร้าในผู้ชาย

          สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้ชายก็คือการสูญเสียงานและไม่สามารถหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้

จากการศึกษาใน The American Journal of Psychiatry พบว่าผู้ชายมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้หญิงจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • เสพยา
  • การทารุณเด็กทางเพศ
  • เคยมีประวัติการมีภาวะซึมเศร้ามาก่อน
  • เหตุการณ์กดดันในชีวิต

จากการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าผู้ชายอาจจะมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้ามากขึ้นจากความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายในชีวิต และความพึงพอใจในตนเองต่ำ ปัญหาด้านการเงิน กฎหมาย และปัญหาด้านอาชีพซึ่งในผู้ชายได้ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าในผู้หญิง

จากการศึกษาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีความเป็นไปได้ถึงสาเหตุในการเกิดภาวะซึมเศร้าของผู้ชาย เช่น การตกงานและความกังวลเกี่ยวกับความล้มเหลวในฐานะหัวหน้าครอบครัว

ภาวะซึมเศร้าในผู้ชายอาจจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละคน จากการวิเคราะห์ใน JAMA Psychiatry พบว่าผู้ชายมีแนวโน้มมีจะเกิดพฤติกรรมเสี่ยง หรือมีความก้าวร้าวมากกว่าผู้หญิงเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้า

ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปจะมองว่าผู้หญิงนั้นมีโอกาสมีภาวะซึมเศร้าบ่อยมากกว่าผู้ชาย แต่จากการศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ชายและผู้หญิงสามารถประสบภาวะซึมเศร้าเท่า ๆ กัน

การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าในผู้ชายยากขึ้นจากความแตกต่างของอาการและการรายงานผลต่อแพทย์ที่อาจจะไม่ถูกต้อง

อาการของภาวะซึมเศร้าแบบปกติ เช่น เศร้าและร้องไห้นั้นในผู้ชายอาจจะถูกปิดบังไว้ โดยบางคนรู้สึกว่าอาการเหล่านี้ไม่ควรแสดงให้เห็นในตัวของผู้ชาย

ควรไปพบแพทย์ตอนไหน

          ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าควรพบแพทย์ เพราะภาวะซึมเศร้าสามารถแย่ลงได้หากไม่ได้รับการรักษาซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิตได้

          แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะพูดคุยเพื่อหาทางเลือกในการรักษาเพื่อช่วยจัดการกับภาวะซึมเศร้าซึ่งช่วยให้ผู้คนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ต่อไป

          ในกรณีที่รุนแรง ภาวะซึมเศร้าอาจจะทำไปสู่ความคิดในการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายร่างกายของตนเอง

          ความคิดหรือข้อความที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายเช่น ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ ต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและไม่ควรปล่อยปละละเลย ซึ่งบุคคลที่มีภาวะเหล่านี้ต้องขอความช่วยเหลือจากแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือสามารถขอความช่วยเหลือได้จากสายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323

เขียนโดย Akiraz

KAIO

อ้างอิงจาก Jennifer Berry (2018) How do I know I am feeling depressed?, Available at: https://www.medicalnewstoday.com/articles/314071 (Accessed: 18th November 2021).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *