Wednesday, January 29, 2025
Life & Health

มาดูกันว่าทำไมผิวของเราถึงคัน?

ผิวคัน

          สวัสดีครับ สำหรับบางคนอาการคันก็คือการต่อสู้ประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุของการคันที่เกิดขึ้นได้

          อาการคันผิวหนังนั้นอาจจะเกิดมาจากผื่นหรือสภาพผิวอื่น ๆ นอกจากนั้นยังอาจจะเป็นอาการที่บ่งบอกถึงโรคร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น โรคตับหรือไตวาย เพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้นการระบุถึงสาเหตุและรักษาให้ตรงจุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

          โดยในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าสาเหตุที่ทำให้ผิวของเราคันมีอะไรบ้างรวมไปถึงวิธีการเยียวยาอาการคันเหล่านี้

สาเหตุของการคัน

          ผิวหนังนั้นมีจุดประสงค์คือการเป็นเกราะป้องกันภายในร่างกายของเรา ผิวหนังนั้นเต็มไปด้วยเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถช่วยป้องกันร่างกายและผิวหนังของเราจากไวรัส แบคทีเรียและภัยคุกคามจากภายนอกอื่น ๆ

          เมื่อเซลล์ผิวหนังได้ตรวจเจอสารแปลก ๆ ชนิดใดก็ตาม เซลล์เหล่านี้ก็จะกระตุ้นปฏิกิริยาทำให้เกิดอาการอักเสบในบริเวณนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้กล่าวถึงการอักเสบนี้ว่าจะทำให้เกิดผื่นหรือโรคผิวหนังซึ่งอาจจะทำไปสู่อาการคันได้

          การคันเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผิวหนัง ผิวหนังทั่วร่างกายของเราสามารถเกิดการคันได้ ซึ่งเราจะมาดูต่อกันว่ามีอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของอาการคัน

ผิวแห้ง

          ผิวแห้งเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการคันที่พบได้บ่อย ถ้าเกิดว่าบนผิวหนังไม่มีตุ่มแดงหรือผิวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนั่นทำให้เรารู้ได้ว่าสาเหตุของอาการคันคือผิวแห้ง

          ผิวแห้งนั้นอาจจะมีมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อนหรือเย็นเกินไปและมีความชื้นในอากาศต่ำ การอาบน้ำมากเกินไปอาจจะทำให้ผิวแห้งได้ และผิวแห้งสามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนทุกอายุ แต่เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นผิวก็จะบางลงและแห้งขึ้น

          มอยเจอร์ไรเซอร์สามารถช่วยซ่อมแซมผิวแห้งได้ โดยผิวแห้งมากนั้นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนในการเกิดโรคผิวหนังได้ ดังนั้นเราอาจจะต้องพบแพทย์เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาไม่ให้อาการแย่ลง

          สัญญาณและอาการทั่วไปของผิวแห้ง ได้แก่

  • ผิวหยาบ ผิวเป็นสะเก็ดหรือขุย
  • ผิวมีอาการคันอย่างรุนแรง
  • มีผิวสีเทาหรือสีขี้เถ้าในผู้ที่มีผิวเข้ม
  • มีรอยแตกในผิวหนังที่มีโอกาสในการเลือดออก
  • ผิวหรือริมฝีปากแห้งหรือแตก

         หากผิวแห้งจนเห็นเป็นรอยแตกสิ่งสำคัญก็คือเราอาจจะต้องรีบรักษาเพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาในร่างกายผ่านทางรอยแตกได้ ซึ่งเมื่อเชื้อโรคเหล่านี้เข้าไปในผิวหนังอาจจะทำให้ผิวหนังเกิดการติดเชื้อได้ จุดสีแดง ๆ และรู้สึกเจ็บผิวหนังมักจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการติดเชื้อ

          ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังอาจจะให้ใช้มอยเจอร์ไรเซอร์พิเศษหรือยาทาผิวเฉพาะทาตลอดทั้งวัน

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

          โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของผื่นที่เกิดขึ้นในผิวหนังเด็ก

American College of Allergy, Asthma & Immunology (ACAAI) ได้รายงานว่าโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นเกิดขึ้นในเด็ก 10% – 20% แต่เกิดในผู้ใหญ่เพียง 1% – 3%

          สาเหตุนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการรั่วของกำแพงที่สร้างจากเซลล์ผิวหนัง ซึ่งทำให้ผิวบริเวณนั้นแห้ง และเสี่ยงต่อเกิดการระคายเคืองรวมไปถึงการอักเสบ สิ่งสำคัญที่สามารถช่วยได้ก็คือการทำให้ผิวกลับมาชุ่มชื้น

          โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปมักจะมาอาการดีขึ้นแต่ยังไงผู้ที่เป็นโรคนี้ก็ต้องมีความระมัดระวังในตัวเองได้ เนื่องจากหากไประวังอาจจะมีโอกาสที่จะติดเชื้อผ่านทางผิวหนังได้

โรคภูมิแพ้

          การระคายเคืองและอาการแพ้อาจจะทำให้คันผิวหนังได้ โรคภูมิแพ้นั้นเกิดจากการที่ร่างกายได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้โดยตรง โดยผลของการแพ้นั้นจะเกิดขึ้นทางผิวซึ่งจะมีผื่นสีแดงขึ้นตามผิวและรู้สึกคัน รวมไปถึงอาจจะตุ่มใส ๆ เล็ก ๆ นู่นขึ้นมาบนผิว ผื่นเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตามที่ผิวได้สัมผัสกับสารก็ภูมิแพ้ซึ่งเป็นสารที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต้องการกำจัด โดยปกติแล้วจะมีระยะเวลาในการเริ่มแสดงอาการหลังจากสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้

          การสัมผัสกับเสื้อผ้า สัตว์เลี้ยง สารเคมี สบู่ และสารต่าง ๆ เช่นไม้เลื้อยที่มีพิษหรือเครื่องสำอางอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และการแพ้อาหารก็สามารถทำให้ผิวหนังคันได้เช่นกัน

          ภูมิแพ้นิกเกิลก็เป็นเรื่องปกติโดยปกติเมื่อเราได้สัมผัสกับเครื่องประดับที่มีนิกเกิลผสมอยู่เล็กน้อยก็สามารถส่งผลให้ผิวหนังคัน เป็นสีแดงหรือบวมได้เช่นกัน

          สำหรับผู้ที่แพ้สารบางชนิด วิธีที่ง่ายที่สุดคือหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือสารเหล่านั้น ครีมที่มีวางขายอยู่ทั่วไปก็สามารถทำให้ผื่นขึ้นได้

โรคลมพิษ

          โรคลมพิษเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการปล่อยสารเคมีในร่างกายที่เรียกว่าฮีสตามีนซึ่งทำให้หลอดเลือดที่มีขนาดเล็กรั่วและทำให้ผิวหนังบวม

          โดยโรคลมพิษมีอยู่สองประเภท ได้แก่

  • โรคลมพิษเฉียบพลัน มักจะเกิดขึ้นหลังจากการสัมผัสกับสารกระตุ้นให้เกิดการแพ้ เช่น อาหารหรือยาบางชนิด หรือสาเหตุที่ไม่ได้ทำให้เกิดการแพ้ เช่น อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป แสงแดด การออกกำลังกายก็สามารถเป็นตัวกระตุ้นได้เช่นกัน
  • โรคลมพิษเรื้อรัง สารกระตุ้นจะไม่กระตุ้นให้เกิดโรคลมพิษประเภทนี้ ซึ่งการทดสอบภูมิแพ้ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ โรคลมพิษเรื้อรังสามารถอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปีโดยจะมีอาการคันและรู้สึกไม่สบายตัว ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้นโรคนี้ก็ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ

         ACAAI ได้กล่าวว่าโรคลมพิษนั้นส่งผลกระทบต่อในบางช่วงของชีวิตของผู้คนประมาณ 20%

แมลงกัดต่อย

          แมลงกัดหรือต่อยมักจะทำให้ผิวของเรารู้สึกแสบร้อนส่งผลให้เกิดอาการคัน ยุงและแมงมุมเมื่อกัดมักจะมีรอยกัดเล็ก ๆ บริเวณรอบ ๆ รอยแดง และรอยเหล่านี้มักจะหายไปภายใน 7-14 วัน

          เมื่อเราโดนตัวเรือดหรือตัวไรกัดอาจจะเกิดผื่นใหญ่บนผิวหนังและยังทำให้เกิดอาการคันทั่วร่างกายได้ หากเราสงสัยว่าอาจจะมีตัวเรือดอยู่ในที่อยู่เป็นจำนวนมาก เราอาจจะต้องรื้อเฟอร์นิเจอร์ออกแล้วทำความสะอาดห้อง ซึ่งของที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ควรล้างด้วยน้ำที่อุณหภูมิ 60 องศา

          หากเราไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเองก็อาจจะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เข้ามาช่วย

จิตวิทยา

          บางครั้งเราอาจจะรู้สึกคันโดยไม่มีสาเหตุที่เกิดขึ้นทางกายภาพ ภาวะสุขภาพจิตบางอย่างอาจจะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับมีตัวอะไรคลานอยู่ซึ่งกระตุ้นให้เราอยากเกา การเกามากเกินไปอาจจะทำให้ผิวหนังถูกทำลายได้

          ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดจากภาวะต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • ภาวะซึมเศร้า
  • ความวิตกกังวล
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ

สาเหตุอื่น ๆ

          ปรสิต เช่น พยาธิเส้นด้าย แมลง ตัวเรือด ยุงหรือเหาอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการคันได้ การติดเชื้อรา เช่น โรคน้ำกัดเท้าอาจจะทำให้เกิดอาการคันระหว่างนิ้วเท้าได้

          อาการคันเหล่านี้อาจจะมีสาเหตุที่รุนแรงกว่าที่กล่าวมา ความผิดปกติของเส้นประสาทที่เกิดจากโรคเบาหวาน เส้นประสาทกดทับ และงูสวัดอาจจะทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรงได้

          เมื่อไตได้รับความเสียหายและไม่สามารถกรองสารพิษออกจากร่างกายก็อาจจะเกิดอาการคันในผู้ป่วยโรคไตได้เช่นกัน

          สำหรับผู้ที่เป็นภาวะยูรีเมีย อาการคันจะมีความรุนแรงมากขึ้นในตอนกลางคืนในบริเวณหลัง แขน และหน้าท้อง

การรักษาที่บ้าน

          การรักษาตัวที่บ้านต่อไปนี้อาจจะช่วยลดอาการคันได้

  • การทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวอย่างน้อยวันละหนึ่งถึงสองครั้ง
  • การทาครีมป้องกันการคัน เช่น ครีมไฮโดรคอร์ติโซน ในบริเวณที่คันเพื่อช่วยลดอาการคัน ครีมไฮโดรคอร์ติโซนนั้นมีจำหน่ายทางออนไลน์
  • ใช้การประคบเย็นและเปียกบริเวณที่คัน
  • อาบน้ำอุ่น
  • เลือกใช้สบู่อ่อน ๆ ที่ไม่มีสีย้อมหรือน้ำหอม และใช้น้ำยาซักผ้าสูตรอ่อนโยนหรือไม่มีกลิ่น
  • หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหรือทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น นิกเกิล เครื่องประดับ และผ้าขนสัตว์

         บางครั้งการดูแลตัวเองคือการหลีกเลี่ยงการเกา โดยการเกาอาจจะทำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวและทำให้อาการคันแย่ลงได้

         หากครีมที่ซื้อมาใช้ไม่ได้ผลหรือมีอาการผื่นขึ้นรวมไปถึงมีอาการนอกจากคันเพิ่มเติม ควรไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อระบุถึงสาเหตุและรักษาให้ตรงจุด

การรักษา

          การรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของการคัน สำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวแล้ว สิ่งจำเป็นก็อาจจะเป็นการใช้มอยส์เจอไรเซอร์

         โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคลมพิษ หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังอาจจะแนะนำให้ใช้ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งสามารถทาลงบนผิวได้โดยตรงเพื่อบรรเทาอาการคัน ยาทาที่มีสารแคลซินิวรินและยาต้านฮีสตามีนสามารถช่วยบรรเทาอาการคันได้เช่นกัน

         โรคภูมิแพ้ ยาต้านฮีสตามีนเป็นยาแก้แพ้ทั่ว ๆ ไปซึ่งสามารถหาซื้อได้ทางช่องทางออนไลน์ ได้แก่ Zyrtec, Claritin และ Benadryl

         โรคเชื้อรา กลาก โรคน้ำกัดเท้า และการติดเชื้อราอื่น ๆ สามารถรักษาให้หายโดยการใช้ยาต้านเชื้อรา สำหรับการติดเชื้อที่รุนแรง แพทย์อาจจะจ่ายยา Terbinafine หรือ Lamisil ให้

         แมลงกัดต่อย ยาแก้แพ้ใช้เฉพาะที่สามารถบรรเทาอาการคันได้ สำหรับการป้องกันการถูกแมลงกัดให้ใช้ยาไล่แมลงหรือสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด

           คนที่เป็นโรคสะเก็ดเงินหรือไตวายนั้นอาจจะได้รับคำแนะนำในการรักษาแบบทางเลือก หากมีเหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา การบำบัดด้วยแสงหรือฉายแสงก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการรักษา ซึ่งเป็นการรักษาโดยการปล่อยให้ผิวหนังได้รับแสงอัตราไวโอเลตในช่วงความยาวคลื่นหนึ่งเพื่อช่วยควบคุมอาการคันได้

เขียนโดย Akiraz

KAIO

อ้างอิงจาก Valencia Higuera (2020) Why is my skin itchy?, Available at: https://www.medicalnewstoday.com/articles/311473 (Accessed: 5th December 2021).

Leave a Reply