มาดูกันว่ากาเฟอีนส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรบ้าง?
สวัสดีครับ กาเฟอีนนั้นเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในกาแฟ โดยยังมีอยู่ในน้ำอัดลมและเครื่องดื่มชูกำลังอีกด้วย ถึงแม้ว่ากาเฟอีนจะเป็นสารที่ผู้คนส่วนใหญ่สามารถยอมรับได้ จากการวิจัยยังมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับความปลอดภัยของกาเฟอีนและผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากบริโภคไปในระยะยาว
จากการศึกษาในนักศึกษามหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 2019 พบว่าคนที่บริโภคกาเฟอีนนั้นบริโภคกาเฟอีนเฉลี่ยประมาณ 173 มิลลิกรัมต่อวัน
จากการศึกษาถือว่าเป็นระดับการบริโภคกาเฟอีนระดับปานกลาง และจากการศึกษาจำนวนมากได้กล่าวว่าการบริโภคกาเฟอีนในระดับปานกลางนั้นสามารถส่งเสริมประโยชน์ต่อสุขภาพได้อย่างหลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด ภาวะสมองเสื่อม และปัญหาเกี่ยวกับตับได้
อย่างไรก็ตาม การบริโภคกาเฟอีนก็ยังมาพร้อมกับความเสี่ยงอีกหลายประการ การบริโภคมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดผลเสียได้
ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่ากาเฟอีนมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการบริโภคกาเฟอีน
กาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นตามธรรมชาติ
สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในกาแฟนั้นคือกาเฟอีน ซึ่งเป็นสารที่สามารถหาได้จากพืชในธรรมชาติกว่า 60 ชนิด รวมไปถึงเมล็ด ใบชา เมล็ดโกโก้ และเมล็ดโคล่า
กาเฟอีนทำให้ที่เป็นตัวกระตุ้นโดยการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางซึ่งสามารถช่วยยับยั้งความเหนื่อยล้าและช่วยเพิ่มสมาธิได้
นอกจากกาแฟ เราสามารถบริโภคกาเฟอีนได้จากน้ำชา น้ำอัดลม โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลัง และช็อกโกแลต นอกจากนี้กาเฟอีนยังเป็นส่วนผสมในยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ภุมิแพ้ และยาแก้ปวด
ประโยชน์
กาเฟอีนยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่างนอกเหนือจากการช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง
จากบทวิจารณ์ในปี ค.ศ. 2019 พบว่าการบริโภคกาเฟอีนระดับปานกลางมีผลต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้
จากปีเดียวกัน มีการศึกษากว่า 40 ชิ้นที่แตกต่างกันไปพบว่าการดื่มกาแฟ 2-4 แก้วต่อวันนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ
งานวิจัยบางชิ้นได้กล่าวถึงมีความเกี่ยวข้องระหว่างการบริโภคกาเฟอีนซึ่งส่งผลดีต่อสมองด้วย
ในปี ค.ศ. 2013 จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน World Journal of Biological Psychiatry ได้ชี้ให้เห็นว่าการดื่มกาแฟวันละ 2-4 แก้ว อาจจะช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในผู้ใหญ่ได้
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่าการบริโภคกาเฟอีนอาจจะช่วยส่งเสริมความจำระยะยาวได้
จากการศึกษาอื่น ๆ ยังได้ชี้ให้เห็นว่าการบริโภคกาเฟอีนอาจจะป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองได้
อย่างไรก็ตาม Steven E. Meredith นักวิจัยหลังปริญญาเอกจาก The Johns Hopkins University School of Medicine ได้กล่าวว่า หลาย ๆ คนอาจจะลืมไปว่ากาเฟอีนนั้นเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเพราะว่ามีการบริโภคกันอย่างแพร่หลาย
โดยกาเฟอีนจะเข้าผ่านแนวกั้นเลือดและสมองไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง โดยเขาได้บอกเพิ่มอีกว่า
“กาเฟอีนนั้นต่างจากสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอื่น ๆ ส่วนใหญ่ การใช้กาเฟอีนนั้นเป็นที่ยอมรับการโดยทั่วไป และสารนี้ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย จริง ๆ แล้วกาเฟอีนเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่ใช้กันมากที่สุดในโลก
นอกจากนี้ คนที่บริโภคกาเฟอีนส่วนใหญ่สามารถบริโภคเป็นประจำโดยไม่มีอันตราย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ส่งผลต่อมุมมองเกี่ยวกับกาเฟอีนว่าเป็นสารที่ไม่มีอันตรายและทุกคนสามารถใช้ได้โดยไม่ได้รับผลเสียใด ๆ”
ผลข้างเคียง
อย่างไรก็ตาม การบริโภคกาเฟอีนมากอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี
จากบทวิจารณ์ในปี ค.ศ. 2015 ได้ระบุว่าผลข้างเคียงที่เป็นผลเสียจากการบริโภคกาเฟอีนที่มีปริมาณมากกว่า 400 มิลลิกรัมต่อวันนั้น มีดังนี้
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความวิตกกังวล
- กระสับกระส่าย
- การนอนหลับมีปัญหา
- มือสั่น
โดยผลกระทบเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จากคนที่มีภาวะถอนคาเฟอีน
อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยในก่อนหน้านี้ได้เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องระหว่างกาเฟอีนที่มีปริมาณปานกลางกับผลกระทบต่อสุขภาพ
ในปี ค.ศ. 2013 จากการศึกษาแบบเก็บข้อมูลไปข้างหน้าจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การบริโภคกาเฟอีนปริมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวันระหว่างการตั้งครรภ์นั้นอาจจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
การวิเคราะห์อภิมานจำนวน 17 การศึกษาที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 233,617 คน ได้ชี้ให้เห็นว่าการดื่มกาแฟวันละ 3-4 แก้วทุกวันในผู้ชายอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหัวใจวายได้
ซึ่งจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าการบริโภคกาเฟอีนในระยะยาวนั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ และได้ให้ประโยชน์หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพหรือไม่
กาเฟอีนอาจจะมีผลแตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตาม Meredith ได้กล่าวว่าผลของกาเฟอีนที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะแตกต่างกันไปแต่ละคน ซึ่งทำให้มีผลการวิจัยที่ออกมาค่อนข้างหลากหลายเกี่ยวกับผลกระทบของกาเฟอีนที่มีต่อร่างกาย เช่น Meredith ได้แนะนำว่าผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลนั้นจะมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบในการเพิ่มความวิตกกังวลของกาเฟอีน
Meredith ได้กล่าวเสริมว่า “ด้วยเหตุผลหลายประการกาเฟอีนในร่างกายยังมีอัตราการเผาผลาญที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น ร่างกายของคนที่สูบบุหรี่สามารถเผาผลาญกาเฟอีนได้เร็วกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึงสองเท่า”
Rob M. Van Dam รองศาสตราจารย์วุฒิคุณภาควิชาโภชนวิทยาจาก Harvard School of Public Health ได้กล่าวว่าผลของกาเฟอีนนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของพันธุกรรมของแต่ละคนและปัจจัยด้านการดำเนินชีวิตอื่น ๆ
“บางคนอาจจะนอนหลับยาก หรืออาจจะมีอาการสั่นหรือเครียดเมื่อบริโภคกาเฟอีนในปริมาณค่อนข้างต่ำและเราควรที่จะระวังอาการเหล่านี้ รวมไปถึงหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเราควรลดปริมาณการบริโภคกาเฟอีน”
Designed by Freepik
การติดกาเฟอีนและเลิกกาเฟอีน
เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของกาเฟอีนในฐานะสารกระตุ้น Meredith ได้กล่าวว่าสิ่งนี้สำหรับบางคนอาจจะส่งผลให้เกิดการเสพติดกาเฟอีนได้
“กาเฟอีนนั้นกระตุ้นกลไกทางพฤติกรรมและกลไกต่อระบบประสาท และสารประเภทอื่น ๆ ที่ส่งผลคล้ายคลึงกัน รวมไปถึงการใช้ยาในทางที่ผิด
เช่นเดียวกับสารอื่น ๆ ที่ทำงานคล้าย ๆ กัน กาเฟอีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับความคิดเชิงบวกหลายประการ เช่น ส่งเสริมสุขภาวะจิต การเข้าสังคม และการตื่นตัว ด้วยเหตุนี้ผู้คนส่วนน้อยเริ่มติดกาเฟอีน”
ร่างกายบางคนอาจจะติดกาเฟอีน การขาดหรือการลดการบริโภคกาแฟของคนเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดภาวะถอนคาเฟอีนได้
โดยอาการของภาวะถอนคาเฟอีนที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น
- ปวดหัว
- อ่อนล้า
- ลดพลังงานและความตื่นตัว
- ง่วงนอน
- อารมณ์เสีย
- มีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิ
- หงุดหงิดง่าย
Meredith ได้กล่าวเสริมอีกว่า “การพึ่งพากาเฟอีนมากเกินไปอาจจะทำให้ใครบางคนไม่สามารถลดการบริโภคได้ ถึงแม้พวกเขาจะรู้อยู่แล้วว่าการบริโภคกาเฟอีนมากเกินไปและเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายและจิตใจได้”
ความเสี่ยงสำหรับวัยรุ่น
Meredith ยังได้แนะนำว่าแพทย์ควรให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้กาเฟอีนกับผู้ป่วยเพื่อตรวจสอบว่าผู้ช่วยนั้นได้บริโภคปริมาณกาเฟอีนในระดับที่เหมาะสมหรือไม่
Meredith ยังได้เตือนอีกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กและวัยรุ่น
กุมารแพทย์โดยส่วนใหญ่ยังได้แนะนำว่าวัยรุ่นควรหลีกเลี่ยงการบริโภคกาเฟอีนอันเนื่องมาจากนักวิจัยยังไม่ได้เข้าใจถึงผลกระทบที่มีต่อสมองที่กำลังพัฒนาในวัยรุ่นอย่างเต็มที่
Meredith ยังได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาเฟอีนนั้นได้เป็นตัวการขัดขวางการนอนหลับ และการนอนหลับนั้นมีบทบาทสำคัญสำหรับการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ งานวิจัยในห้องปฏิบัติการบางชิ้นได้แนะนำว่ากาเฟอีนได้ขัดขวางการนอนหลับและการเรียนรู้ในหนูที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ในทางกลับกันกาเฟอีนอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบประสาทซึ่งสามารถเห็นได้ชัดในช่วงวัยผู้ใหญ่ได้”
“นักจิตวิทยาบางคนได้กังวลว่าการใช้กาเฟอีนในรูปแบบต่าง ๆ หรือการใช้กาเฟอีนในทางที่ผิดในวัยรุ่นอาจจะนำไปสู่ปัญหาของการใช้แอลกอฮอล์ในต่อ ๆ มาได้”
Food and Drug Administration (FDA) ได้แนะนำว่าเราควรที่จะพูดคุยกับกุมารแพทย์ก่อนที่จะให้เพิ่มกาเฟอีนลงในอาหารของเด็ก ๆ และวัยรุ่น
Michael R. Taylor รองอธิบดีอาหารและสัตวแพทยศาสตร์จาก FDA กล่าวว่า
“พวกเรามีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่น และความรับผิดชอบของ FDA และอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนและเคารพบรรทัดฐานทางสังคมที่ได้ชี้ให้เห็นว่าเราไม่ควรส่งเสริมการใช้สารกระตุ้น เช่น กาเฟอีนสำหรับลูกหลานของเรา”
ในขณะนี้มีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจำนวนมากใส่กาเฟอีนเพิ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้น เช่น เจลลีบีน วาฟเฟิล ไซรัปและหมากฝรั่ง
เขียนโดย Akiraz
อ้างอิงจาก Adam Felman (2019) Is caffeine bad for you?, Available at: https://www.medicalnewstoday.com/articles/271707 (Accessed: 19th December 2021).