มาดูกันว่าทำไมการนอนถึงสำคัญต่อสุขภาพ
สวัสดีครับ การนอนหลับที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญซึ่งช่วยให้เรามีสุขภาพและสุขภาวะจิตดี เมื่อเราพูดถึงเรื่องของสุขภาพ รู้หรือไม่ว่าการนอนหลับมีความสำคัญเท่ากับการออกกำลังกายเป็นประจำและการรับประทานอาหารที่สมดุล ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของสิ่งต่าง ๆ ทำให้ผู้คนใช้เวลาในการนอนน้อยลง ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนอนหลับอย่างเพียงพอก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าการนอนสำคัญต่อสุขภาพของเราอย่างไร เพื่อให้เราได้รู้ถึงความสำคัญของการนอนมากขึ้นครับ
มีผลิตภาพและสมาธิดีขึ้น
- มีการศึกษาหลายชิ้นที่นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งได้ศึกษาในเรื่องผลกระทบของการอดนอน โดยนักวิจัยได้สรุปมาว่า การนอนหลับมีส่วนสำคัญกับการทำงานของสมองหลายประการ ได้แก่ สมาธิ ผลิตภาพ และการรับรู้
- ผลการศึกษาล่าสุดในวารสารจิตวิทยาเด็กและจิตเวชศาสตร์ ปี ค.ศ. 2015 ได้แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการนอนหลับของเด็กสามารถส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและผลการเรียนได้
ลดความเสี่ยงในการเพิ่มน้ำหนัก
- การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักกับโรคอ้วนและรูปแบบการนอนน้อยนั้นมีความเกี่ยวข้องกันที่ไม่ชัดเจน
- มีการศึกษาหลาย ๆ ครั้งในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและรูปแบบการนอนหลับที่ไม่ดี
- การศึกษาล่าสุดในวารสาร Sleep Medicine สรุปได้ว่าการมีน้ำหนักเกินและการอดนอนนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน งานวิจัยนี้ได้ระบุว่าการศึกษาก่อนหน้านี้จำนวนมากได้ล้มเหลวเพราะไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยในด้านอื่น ๆ เช่น
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ระดับของการออกกำลังกาย
- ระดับการศึกษา
- ระยะเวลาของชั่วโมงการทำงาน
- ระยะเวลาในการอยู่กับที่
- การอดนอนอาจจะส่งผลต่อความปรารถนาของเราหรือความสามารถในการรักษาวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุโดยตรงของการมีน้ำหนักเกิน
ควบคุมแคลอรีได้ดีขึ้น
- เช่นเดียวกับการเพิ่มน้ำหนัก มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าการนอนหลับที่เพียงพอสามารถช่วยให้เราบริโภคแคลอรีได้น้อยลงในระหว่างวัน
- ตัวอย่างจากการศึกษาหนึ่งใน Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America (PNAS) ได้ระบุว่ารูปแบบการนอนหลับส่งผลต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความอยากอาหาร
- หากเรานอนหลับไม่เพียงพออาจจะเป็นการไปรบกวนความสามารถในการควบคุมความอยากของร่างกายได้
มีประสิทธิภาพในการเล่นกีฬาสูงขึ้น
- ตามข้อมูลของ National Sleep Foundation การนอนหลับที่เพียงพอสำหรับผู้ใหญ่อยู่ในระหว่าง 7-9 ชั่วโมงต่อคืน และถ้าหากเป็นนักกีฬาอาจจะสูงถึง 10 ชั่วโมงต่อคืน ดังนั้นการนอนหลับจึงมีความสำคัญต่อนักกีฬาพอ ๆ กับการบริโภคแคลอรีและสารอาหารให้เพียงพอ
- การนอนหลับช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนและฟื้นตัว รวมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้
- ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายดีขึ้น
- มีพลังงานมากขึ้น
- การประสานงานของร่างกายดีขึ้น
- ตอบสนองได้เร็วขึ้น
- การทำงานของจิตใจดีขึ้น
ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
- จากแหล่งข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ได้พูดถึงปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งสำหรับโรคหัวใจก็คือความดันโลหิตสูง ซึ่งการพักผ่อนที่เพียงพอในแต่ละคืนจะช่วยควบคุมความดันโลหิตในร่างกายได้ และยังสามารถลดโอกาสการเกิดของภาวะที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจในขณะที่หลับ และยังส่งเสริมสุขภาพของหัวใจให้ดีขึ้น
ความฉลาดทางสังคมและอารมณ์มากขึ้น
- การนอนหลับมีความเกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์และสังคมของเรา คนที่นอนหลับไม่เพียงพอมักจะมีปัญหาในการตระหนักถึงอารมณ์และการแสดงออกของผู้อื่น
- ตัวอย่างจากการศึกษาเรื่องหนึ่งใน Journal of Sleep Research ได้พิจารณาต่อการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของผู้คน โดยนักวิจัยได้สรุปเช่นเดียวกับการศึกษาในก่อนหน้านี้ในหลาย ๆ เรื่องว่าการนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลต่อการตระหนักอารมณ์ของผู้อื่น
ป้องกันภาวะซึมเศร้า
- การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับกับสุขภาพจิตมีความเกี่ยวข้องกันมานานแล้ว โดยได้ข้อสรุปประการหนึ่งก็คือ การนอนหลับมีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า
- การศึกษาที่ปรากฏใน JAMA Psychiatry ได้ตรวจสอบรูปแบบการตายโดยการฆ่าตัวตายมามากกว่า 10 ปี โดยสรุปได้ว่าการอดนอนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก
- การศึกษาอื่น ๆ ที่ปรากฏใน Australian and New Zealand Journal of Psychiatry ได้แนะนำว่าผู้ที่มีความผิดปกติที่เกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น โรคนอนไปหลับ มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคซึมเศร้าได้
ลดการเกิดอาการอักเสบ
- การนอนหลับที่เพียงพอมีความเชื่อมโยงกับการลดการเกิดอาการอักเสบในร่างกาย
- ตัวอย่างจากการศึกษาใน World Journal of Gastroenterology ได้ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการอดนอนกับโรคลำไส้อักเสบที่เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารของผู้คน
- ผลการศึกษาพบว่าการอดนอนมีส่วนที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ได้ และในทางกลับกัน โรคเหล่านี้ก็ส่งผลต่อภาวะขาดการนอนหลับอีกด้วย
มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น
- การนอนหลับยังช่วยซ่อมแซม ฟื้นฟูร่างกาย รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย งานวิจัยบางชิ้นได้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้นสามารถช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดี
- อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังต้องใช้เวลาในการทำการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกการนอนหลับที่คำนึงผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ข้อแนะนำในการนอน
ระยะเวลาในการนอนหลับนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและขึ้นอยู่กับอายุด้วย เมื่อเรามีอายุมากขึ้น เราอาจจะต้องการนอนน้อยลงเพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
CDC ได้แบ่งระยะเวลาการนอนตามอายุไว้ดังนี้
- ทารกแรกเกิด (0–3 เดือน) 14–17 ชั่วโมง
- ทารก (4–12 เดือน) 12–16 ชั่วโมง
- ทารกในช่วงหัดเดิน (1-2 ปี) 11–14 ชั่วโมง
- เด็กก่อนวัยเรียน (3–5 ปี) 10–13 ชั่วโมง
- เด็กวัยเรียน (6–12 ปี) 9–12 ชั่วโมง
- วัยรุ่น (13-18 ปี) 8-10 ชั่วโมง
- ผู้ใหญ่ (18–60 ปี) 7 ชั่วโมงขึ้นไป
- ผู้ใหญ่ (61–64 ปี) 7–9 ชั่วโมง
- ผู้ใหญ่ (65 ปีขึ้นไป) 7-8 ชั่วโมง
เขียนโดย Akiraz
อ้างอิงจาก Jenna Fletcher (2019) Why sleep is essential for health, Available at: https://www.medicalnewstoday.com/articles/325353 (Accessed: 1st October 2021).