มาดูกันว่าไข้หวัดใหญ่คืออะไร? อาการเป็นอย่างไร? รวมไปถึงวิธีการดูแลตัวเอง และค่ารักษาพยาบาล แบบเข้าใจง่าย ๆ
สวัสดีครับ ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ จะเป็นช่วงที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ระวังในโรคภัยอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะโรคที่มีอาการใกล้เคียงกับ COVID-19 อาจจะมีการจำสับสน และทำให้รับมือผิด โดยโรคที่ว่านี้ก็คือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะเป็นหัวข้อที่เราจะมาดูในวันนี้กันครับ
ไข้หวัดใหญ่คืออะไร?
ไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza (Flu) เป็นโรคติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดอยู่ในโพรงจมูก ลำคอ และในบางครั้งก็ปอด ในกรณีที่ติดเชื้อสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง และถึงขั้นเสียชีวิตได้ วิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือ การเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุก ๆ ปี
อาการที่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่จะแตกต่างจากไข้หวัดปกติ ไข้หวัดใหญ่มักจะมาอย่างกะทันหัน ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการเหล่านี้บางส่วน หรือทั้งหมด
- ไข้ หรือรู้สึกหนาวสั่น (ไม่จำเป็นต้องเป็นไข้ทุกคนในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่)
- ไอ
- เจ็บคอ
- น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือร่างกาย
- ปวดหัว
- รู้สึกเหนื่อยล้า
- ในบางคนอาจจะมีอาการอาเจียนและท้องร่วง ส่วนใหญ่จะพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
ระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการหลังติดเชื้อ
ตั้งแต่ที่ผู้ป่วยสัมผัสและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ระยะเวลาเริ่มแสดงอาการจะอยู่ที่ประมาณ 2 วัน หรือในช่วงระยะเวลา 1-4 วัน
ระยะเวลาติดต่อเชื้อ
เราสามารถแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ให้กับคนอื่นได้ ทั้งในขณะที่เราป่วยหรือก่อนที่เราจะป่วยได้ด้วยโดย
- หลังจากที่เริ่มป่วยในช่วง 3-4 วันแรก ผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้มากที่สุด
- ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีบางคน อาจจะติดเชื้อจากผู้ป่วยก่อนเกิดอาการได้ตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึง หลังจากมีอาการ 5-7 วัน
- ในบางคน โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นเป็นเวลานานกว่าข้อมูลข้างต้นได้
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อมากที่สุด
ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป | ผู้ที่เป็นโรค HIV หรือเอดส์ |
สตรีมีครรภ์ | ผู้ป่วยโรคมะเร็ง |
เด็กเล็ก | เด็กที่มีภาวะทางระบบประสาท |
ผู้ป่วยโรคหอบหืด | ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด |
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน |
วิธีการรักษาไข้หวัดใหญ่
โดยปกติถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง สามารถพักผ่อนและดื่มน้ำให้มาก ๆ ก็พอแล้ว แต่ถ้าเกิดผู้ป่วยอาการที่รุนแรงหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน แพทย์อาจจะจ่ายยาต้านไวรัส Oseltamivir (Tamiflu), Zanamivir (Relenza), Peramivir (Rapivab) หรือ Baloxavir (Xofluza) ให้ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการป่วยลง และป้องกันโรคแทรกซ้อนได้
ค่ารักษาไข้หวัดใหญ่
ในโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ กรณีที่เราจะต้องนอนพักรักษาตัว จะมีค่ารักษาพยาบาล จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ประมาณ 46,216 – 72,371 บาท แต่ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจริงอาจจะเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับจำนวนคืนและวิธีการรักษาของแต่ละโรงพยาบาล
เขียนโดย Akiraz
อ้างอิงจาก Centers for Disease Control and Prevention (2021) About Flu, Available at: https://www.cdc.gov/flu/about/index.html (Accessed: 8th September 2021).
อ้างอิงจาก Mayo Clinic (2020) Influenza (flu), Available at: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/flu/diagnosis-treatment/drc-20351725 (Accessed: 8th September 2021).
อ้างอิงจาก AIAplanner (2020) ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ปี 2563, Available at: https://www.aiaplanner.com/admit-cost/ (Accessed: 8th September 2021).