Wednesday, January 15, 2025
Tax & Investment

มาดูกันว่า ภาษีสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ freelance เป็นอย่างไร แบบเข้าใจง่าย ๆ

Freelance Tax

          สวัสดีครับ ในบทความนี้ เราจะมาดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ Freelance กัน บางคนอาจจะเข้าใจว่าการเป็น Freelance นั้นไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ แต่มีบางกรณีที่ไม่ต้องเสียเช่น เงินที่ได้รับไม่ถึงเกณฑ์ ถ้าหากคุณมีเงินเดือนมากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 60,000 บาทต่อปี อย่างนี้ต้องเสียแน่นอน ซึ่งเราจะมาดูกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ทำความเข้าใจกับภาษีของอาชีพอิสระ

          ก่อนอื่นเราจะมาทำความเข้าใจกับประเภทของเงินได้ของอาชีพอิสระ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจผิดกัน อาชีพอิสระหรือ Freelance มีเงินได้ประเภทที่ 2 เท่านั้น ส่วนเงินได้ประเภทที่ 6 ที่บางคนอาจจะจำสับสนว่าเป็นเงินได้ของอาชีพอิสระ จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย เงินได้ประเภทที่ 6 จะถูกจำกัดไว้ใน 6 อาชีพ ได้แก่ ผู้ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ เพราะฉะนั้นอย่าจำสับสนกันนะครับ

เงินได้ประเภทที่ 2 มีอะไรบ้าง?

          เงินได้ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40(2) ซึ่งเป็นของอาชีพอิสระ มีดังนี้

  • ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
  • เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
  • เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
  • เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
  • เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
  • เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

การเสียภาษี

          โดยปกติเมื่อเรารับงานแต่ละครั้ง สิ่งที่ Freelance ต้องมีเลยก็คือ ใบ 50 ทวี หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งตัวนี้จะเป็นหลักฐานยืนยันว่าเราได้รับเงินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว เพื่อนำไปคำนวณภาษีที่เราต้องจ่าย หากไม่มีตัวนี้แล้วอาจจะโดนภาษีย้อนหลังได้ ให้เรารวบรวมใบ 50 ทวีเก็บไว้เป็นหลักฐานการยื่นภาษี หลังจากนั้นก็ตรวจสอบค่าลดหย่อนภาษีของแต่ละปีว่ามีอะไรบ้าง เราเข้าตามเกณฑ์ไหนบ้างรึเปล่า ถ้าหากตรงตามเกณฑ์ก็ให้เก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้ด้วย

          เมื่อเรามีหลักฐานพร้อมยื่นภาษีแล้ว ก็มาถึงวิธีการยื่นภาษี ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือยื่นแบบออนไลน์ หรือออฟไลน์

ถ้าหากต้องการยื่นแบบออนไลน์สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์  https://epit.rd.go.th แล้วกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย อย่าลืมว่าต้องเป็น ภ.ง.ด. 90 หลังจากยื่นเสร็จ หากมีภาษีที่ต้องการจ่ายสามารถจ่ายได้ตามช่องทางที่กรมสรรพากรเป็นคนกำหนดได้ เช่น การโอนเงินผ่านธนาคาร

หรือหากสะดวกก็สามารถยื่นแบบออฟไลน์ได้ โดยโหลดแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 จากเว็บไซต์ https://www.rd.go.th และกรุณาตรวจสอบปีให้ดี หลังจากนั้นก็สั่ง Print ลงบนกระดาษ แล้วกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย จากนั้นนำไปยื่นให้กับสำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน หากต้องการจ่ายภาษีก็สามารถทำได้ทันทีที่สำนักงานสรรพากร

เขียนโดย Akiraz

KAI

อ้างอิงจาก กรมสรรพากร (2021) มาตรา 38_64, Available at: https://www.rd.go.th/5937.html (Accessed: 2nd September 2021).

อ้างอิงจาก กรมสรรพากร (2020) ประเภทเงินรายได้ที่ต้องเสียภาษี, Available at: https://www.rd.go.th/553.html (Accessed: 2nd September 2021).

อ้างอิงจาก Bangkokbiznews (2020) ‘ฟรีแลนซ์’ ต้องรู้! รายได้เล็กๆ ที่ต้องยื่น ‘ภาษีเงินได้’, Available at: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/861049 (Accessed: 2nd September 2021).

อ้างอิงจาก iTAX (2019) ฟรีแลนซ์ยื่นภาษียังไง?, Available at: https://www.itax.in.th/media/%E0%B8%9F%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B9%8C%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%87/ (Accessed: 2nd September 2021).

Leave a Reply