ดอกเบี้ย คืออะไร?
ดอกเบี้ย คือ เงินตอบแทนที่ได้จากการออมหรือลงทุน เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือจะเป็นเงินตอบแทนที่ผู้ปล่อยกู้ได้จากผู้ขอกู้ โดยค่าตอบแทนที่ผู้ปล่อยกู้จะได้รับ คิดเป็นร้อยละ และอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการของทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่างๆ ก็จะถูกกำหนดจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ต่อไปเรามาดูกันว่า ดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้นั้นต่างกันอย่างไร
ดอกเบี้ยเงินฝาก | ดอกเบี้ยเงินกู้ |
---|---|
ค่าตอบแทนที่ผู้ฝากได้จากสถาบันทางการเงิน | ค่าตอบแทนที่คนปล่อยกู้ได้จากผู้กู้ |
อัตราโดยทั่วไปขึ้นอยู่ระยะเวลาและเงื่อนไขการถอน | อัตราโดยทั่วไปขึ้นอยู่ประเภทของเงินกู้หรือสินเชื่อ |
คิดดอกเบี้ยแบบทบต้น (Compound Interest Rate) | คิดดอกเบี้ยตามสินเชื่อ มี 3 ประเภท 1.สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate Loan) 2.สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate Loan) 3.สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยแบบผสม (Mixed Rate Loan) |
ดอกเบี้ยเงินฝาก
ดอกเบี้ยแบบทบต้น (Compound Interest Rate) คือ การนำดอกเบี้ยที่ได้รับในงวดก่อนมารวมเป็นเงินตั้งต้นเพื่อคำนวณดอกเบี้ยในงวดต่อไป
ดอกเบี้ยเงินกู้
1. สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate Loan) เป็นสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกัน ณ วันที่ให้สินเชื่อ และจะคิดแบบอัตราคงที่ไปตลอดระยะเวลาการให้สินเชื่อ ตัวอย่างสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ได้แก่ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อตู้เย็น สินเชื่อประเภทนี้จะให้ค่า Effective Interest Rate ที่สูง
2. สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate Loan) เป็นสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงไปตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละช่วงเวลา โดยทั่วไปธนาคารจะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำอย่าง MLR และ MRR เป็นอัตราอ้างอิงสำหรับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา นิยมเรียกสินเชื่อจำลองอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวว่า Adjustable Rate Mortgage (ARM)
3. สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยแบบผสม (Mixed Rate Loan) เป็นสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยแบบคงที่และแบบลอยตัวผสมกัน โดยส่วนใหญ่ธนาคารมักจะให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยแบบผสม
3.1) อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรกแล้วปรับเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัวสำหรับระยะเวลาที่เหลือ เช่น 4 ปีแรกดอกเบี้ยคงที่ 3.5% หลังจากนั้นเป็นดอกเบี้ยลอยตัวแบบ MLR – 1
3.2) อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันได แล้วปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เช่น 2 ปีแรกดอกเบี้ย 2% ปีที่ 3 ดอกเบี้ย 3% ปีที่ 4 และ 5 ดอกเบี้ย 4% หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยลอยตัวแบบ MLR + 1 เป็นต้น
อ้างอิงบทความจาก set (2020) ดอกเบี้ย, Available at: https://www.set.or.th/set/financialplanning/glossary.do?contentId=16 (Accessed: 29 December 2020).
สรุปบทความโดย ภูมิ